วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2560

การศึกษาโลกปี 2017 นำเทคโนโลยีพัฒนาผู้เรียน

การศึกษาโลกปี 2017 นำเทคโนโลยีพัฒนาผู้เรียน

เมื่อเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในปัจจุบัน และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เทคโนโลยีจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาเช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่าปีที่ผ่าน ๆ มา สถาบันการศึกษาทั่วโลกต่างพากันลงทุนจำนวนมากกับเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างช่องทางให้ผู้เรียนเข้าถึงหลักสูตรต่าง ๆ มากขึ้น

ดังนั้น แน่นอนว่าแนวโน้มการศึกษาในปี 2017 จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี "ประชาชาติธุรกิจ" จึงรวบรวมแนวโน้มการศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ไว้ดังนี้ 

เยสคอร์ส (YesCourse) ผู้สร้างแพลตฟอร์มการกระจายการศึกษาออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่ให้สถาบันการศึกษาทั่วโลกได้ขายหลักสูตรการศึกษาออนไลน์ของตน โดยปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 3,500 สถาบันการศึกษาระบุว่า ในปีที่ผ่านมาการศึกษาออนไลน์ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของการศึกษาอย่างมาก และเป็นตัวเสริมให้การศึกษาแบบดั้งเดิมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนจากทุกที่

แต่ในปี 2017 ระบบการเรียนออนไลน์แบบเสมือนจริง Virtual Reality (VR) จะกลายเป็นกระแสหลักมากขึ้น ซึ่งเราอาจได้เห็นและได้ยิน VR ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ มาแล้ว เช่น การบิน การทหาร และเกม แต่ในอนาคต VR จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เพราะเป็นเครื่องมือที่จะสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริง ซึ่งทำให้ผู้ใช้เกิดการรับรู้และตื่นตัวในการเรียนรู้มากขึ้น

แนวโน้มต่อมา คือ Cloud Migration หรือการเคลื่อนย้ายฐานข้อมูลต่าง ๆ สู่คลาวด์ ซึ่งสถาบันการศึกษานำข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงระบบไอทีของตนเองสู่ระบบคลาวด์มากขึ้นทุกวัน เพราะเป็นหน่วยจัดเก็บข้อมูลที่ลดความยุ่งยากในการติดตั้ง การดูแลระบบ ช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ และเครือข่ายเอง ซึ่งผู้ใช้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต จัดการบริหารทรัพยากรของระบบ และสามารถแบ่งทรัพยากรร่วมกันได้ง่าย

อีกหนึ่งแนวโน้มที่ YesCourse พูดไว้ คือ การวิเคราะห์เชิงทำนาย (Predictive Analytics) และการเรียนเชิงทำนาย (Predictive Learning) ซึ่งในทุก ๆ ครั้งที่ผู้เรียนมีการโต้ตอบกับโปรแกรมการศึกษาออนไลน์ พวกเขาทิ้งรอยดิจิทัลไว้ (Digital Footprint) สิ่งนี้ทำให้สถานศึกษา และครูผู้สอนสามารถใช้ทำนายเพื่อเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้เรียน และสามารถปรับเปลี่ยนหลักสูตรได้ตรงตามความต้องการของผู้เรียนและเหมาะสม

นอกจากนั้นยังเป็นข้อดีต่อการเตรียมความพร้อมของสถาบันการศึกษาในการพัฒนาบุคลากร เตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทันท่วงที

ส่วนเว็บไซต์ Pathway to Financial Success บอกว่า แนวโน้มการศึกษาจะเข้าสู่ยุค The Internet of Things (IoT) เพราะอินเทอร์เน็ตเกี่ยวข้องกับทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์โฟน โน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์ แท็บเลต สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรียนรู้มากขึ้นทุกวัน โดยบริษัทการ์ตเนอร์ (Gartner Inc.) ทำนายว่า ในปี 2020 จะมีอุปกรณ์สิ่งของต่าง ๆ เชื่อมต่อกันไม่ต่ำกว่า 20.8 ล้านล้านชิ้นทั่วโลก

ดังนั้น รัฐบาลแห่งประเทศอังกฤษจึงทุ่มงบฯลงทุนด้านการวิจัยและศึกษาด้าน IoT ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านปอนด์ในปีที่ผ่านมา

สิ่งที่ผู้เรียนได้รับประโยชน์จาก IoT ได้แก่ ส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning), รู้จักการแก้ไขปัญหาโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem-based Learning), กระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเองและยั่งยืน (Self-directed Learning), ส่งเสริมเรียนรู้ผ่านพหุประสาทสัมผัส (Multisensory Learning), สร้างความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ (Gender Equality) และสร้างห้องเรียนอัจฉริยะ (Creating Smart Classroom) 

นอกจากนั้น Real-World Case Studies หรือกรณีศึกษาจากโลกแห่งความจริงจะเข้มข้นมากขึ้นในทุกวิชา เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวผู้เรียน และเห็นภาพได้ชัดเจนกว่าข้อมูลในตำรา กรณีศึกษาในโลกแห่งความจริงยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เรียนต้องการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียน

ในขณะที่ "บิล เกตส์" นักธุรกิจชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ และเป็นผู้บุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลวิเคราะห์ไว้ว่า ค่าใช้จ่ายการศึกษาจะน้อยลงและทุนการวิจัยจะมากขึ้น

"เป็นที่รู้กันว่างานวิจัยเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการพัฒนา และการต่อยอดการศึกษา แต่ที่ผ่านมานักวิจัยหลายคนต่างต้องวิ่งเต้นหาทุนวิจัย และหาการสนับสนุนจากรัฐบาล แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา โดยผู้เรียนสามารถเรียนได้ฟรีจากระบบการศึกษาที่เรียกว่า MOOCs (Massive Online Open Courses) จึงส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเรียนน้อยลง ผู้เรียนสามารถมีทุนวิจัยของตนเอง"

"ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาก็ไม่จำเป็นต้องจ้างผู้สอนจำนวนมากเหมือนแต่ก่อน ไม่ต้องสร้างห้องเรียนหรืออาคารเรียน เพราะสามารถใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการสอนและประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้น สถาบันการศึกษาจะประหยัดเงินทุนเช่นกัน แต่ส่งผลให้มีเงินทุนเพื่อให้กับงานวิจัยมากขึ้น"

นอกจากนั้น MOOCs ยังช่วยให้ผู้สอนรู้วิธีพัฒนาตนเอง เพราะที่ผ่านมาปัญหาด้านการศึกษามักจะเกี่ยวข้องกับการที่ผู้สอนยังเข้าถึงการรับรู้ฟีดแบ็กเกี่ยวกับความสามารถตนเองไม่ง่ายพอ ซึ่งทำให้ผู้สอนไม่รู้ข้อบกพร่อง และไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นถูกทางหรือไม่ ซึ่ง MOOCs จะเข้ามาแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ โดย MOOCs จะเก็บรวบรวมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผู้เรียนใช้บนระบบ และนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องส่งเสริมเทคโนโลยีกับการศึกษาของนักเรียนไทยมากขึ้น เพื่อสามารถตามแนวโน้มการศึกษาของโลกได้ทัน และสามารถแข่งขันกับโลกในปัจจุบันให้ได้

ที่มา : http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1483438978

แนะนำเว็บไซต์แหล่งรวมหลักสูตร หลากหลายสาขาวิชา

ข้อมูลจาก https://blog.eduzones.com/lovekru/174769

แนะนำเว็บไซต์แหล่งรวมหลักสูตร
หลากหลายสาขาวิชา


แหล่งรวมหลักสูตรหลากหลาย

 
              องค์กรด้านการศึกษาหลายแหล่งทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต เปิดโอกาสให้ผู้คนจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงเนื้อหาหรือแหล่งสารสนเทศได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างและสะดวกรวดเร็ว เรียนรู้ได้ไม่จำกัดสถานที่และเวลา
             สำหรับวันนี้จะมาแนะนำเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวมหลักสูตรหลากหลายสาขาวิชาและระดับการศึกษาซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยระดับ world class มีดังต่อไปนี้

1. Coursera เป็นเว็บไซต์ที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนออนไลน์ได้ฟรี หลักสูตรต่างๆ ที่เปิดให้เรียนออนไลน์ มีเนื้อหาครอบคลุมทุกสาขาวิชา ในหลายๆ หลักสูตรจะมี Peer assessments คือมีการตรวจงานหรือให้ feedback เกี่ยวกับการบ้านหรือผลงานของผู้เรียน
สมัครสมาชิกและเข้าเรียนได้ที่ https://www.coursera.org/

2. MIT OpenCourseWare (OCW) เป็นเว็บไซต์ที่เผยแพร่เนื้อหาของหลักสูตรทั้งหมดใน MIT ให้ทุกคนสามารถเรียนได้ นอกจากการสนับสนุนให้ผู้เรียนมาใช้สื่อการเรียนการสอนเหล่านี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนให้ความเห็นในการปรับปรุงหลักสูตรแก่อาจารย์และนักการศึกษาด้วย ตอนนี้มีสื่ออยู่ที่ 2260 หลักสูตร ครอบคลุมทุกสาขาวิชาที่ MIT เปิดสอน มีทั้งระดับปริญญาตรี - โท - เอก
สมัครสมาชิกและเข้าเรียนได้ที่ http://ocw.mit.edu/index.htm

3. edX เป็นอีกเว็บที่นำเสนอหลักสูตรออนไลน์หลายสาขาวิชา ผู้ดูแลหลักคือ MIT และ Harvard ทุกคนสามารถเข้าเรียนได้ฟรี และมีทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการ Certificate จากการเรียนในรายวิชานั้น ๆ แต่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนะ
สมัครสมาชิกและเข้าเรียนได้ที่https://www.edx.org/

4. Khan Academy นำเสนอเนื้อหาให้ผู้เรียนเข้าถึงได้ฟรี รวมทั้งผู้ปกครองและครูที่สามารถนำสื่อการสอนนี้ไปใช้ได้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีเนื้อหาที่จัดกลุ่มสำหรับผู้เรียนในแต่ละดับ เช่น ระดับอุดมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือจากสถาบันชั้นนำในการจัดให้เนื้อหาเฉพาะสาขาวิชา เช่น NASA, The Museum of Modern Art, The California Academy of Sciences, and MIT
สมัครสมาชิกและเข้าเรียนได้ที่ https://www.khanacademy.org/

5. ALISON เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม จัดหลักสูตรให้เรียนออนไลน์และ certificate ฟรี มุ่งหวังให้คนสามารถเรียนรู้เพื่อนำประกอบอาชีพหรือพัฒนาตนเอง ปัจจุบันมีเนื้อหามากกว่า 750 หลักสูตรที่พัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชา เช่น จาก Google, Microsoft and the World Health Organization
สมัครสมาชิกและเข้าเรียนได้ที่ https://alison.com/


 
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Montfort College Primary Section
เรียบเรียงโดย : พี่นุ๊ก eduzones