นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสอนคณิตศาสตร์
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเรียนรู้สำหรับชั้นเรียนคณิตศาสตร์นั้น เป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนรู้อีกหนทางหนึ่ง ซึ่งการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ผู้สอนหรือนักการศึกษาต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการเรียนรู้ เนื้อหาที่ใช้ บริบทของผู้เรียน รวมถึงความสามารถและข้อจำกัดของเทคโนโลยีต่างๆ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้สำหรับชั้นเรียนคณิตศาสตร์ สามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
1. ฮาร์ดแวร์ (Hardware)
ฮาร์ดแวร์ (Hardware) หมายถึง อุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นเครื่องมือ มีลักษณะเป็นโครงร่างสามารถมองเห็นด้วยตาและสัมผัสได้ (เป็นรูปธรรม) เช่น จอภาพ คีย์บอร์ด เครื่องพิมพ์ เมาส์ เป็นต้น สำหรับการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนคณิตศาสตร์นั้นมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นฮาร์ดแวร์ช่วยอำนวยความสะดวก และพัฒนาการจัดการเรียนรู้เฉพาะทางด้านคณิตศาสตร์หลายชนิด เช่น เครื่องคิดเลข โปรเจคเตอร์ กระดานอัจฉริยะ เป็นต้น
2. ซอฟท์แวร์ (Software)
ซอฟท์แวร์ (Software) หมายถึง ชุดคำสั่ง หรือโปรแกรมที่ใช้สั่งงานทางคอมพิวเตอร์ เป็นการลำดับขั้นตอนการทำงานที่เขียนขึ้นด้วยคำสั่งคอมพิวเตอร์ คำสั่งเหล่านี้เรียงกันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งทำงานแตกต่างกันได้มากมายด้วยซอฟท์แวร์ที่แตกต่างกัน ซอฟท์แวร์จึงหมายถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทุกประเภทที่ทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ ซอฟท์แวร์จึงเป็นส่วนสำคัญของระบบคอมพิวเตอร์ และเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้ระบบสารสนเทศเป็นไปได้ตามที่ต้องการ
ปัจจุบันมีซอฟท์แวร์ทางด้านคณิตศาสตร์มากมายที่ช่วยในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เนื่องจากวิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่เป็นนามธรรม ทำความเข้าใจยาก ผู้เรียนไม่เห็นภาพ ไม่เห็นประโยชน์การนำไปใช้ อีกทั้งในรายวิชาคณิตศาสตร์มีสูตรและสัญลักษณ์มากมาย ซอฟท์แวร์ทางด้านคณิตศาสตร์จึงเป็นเหมือนเครื่องมือประเภทหนึ่งที่เข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ ตัวอย่างซอฟท์แวร์ที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ได้แก่ GSP, GeoGebra, Desmos เป็นต้น
3. อินเทอร์เน็ต (Internet)
อินเทอร์เน็ตสามารถให้ผู้เรียนติดต่อสื่อสารกับผู้คนทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว และสามารถสืบค้นหรือเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศจากทั่วโลกได้ จึงทำให้เกิดการเรียนรู้โดยใช้อินเทอร์เน็ตกับกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะในด้านต่างๆ เช่น การแก้ปัญหา การสื่อสาร การเชื่อมโยง เป็นต้น อินเทอร์เน็ตเมื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการศึกษาทำให้เกิดประโยชน์และสร้างความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษาให้มากยิ่งขึ้น สำหรับชั้นเรียนคณิตศาสตร์ อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการจัดการเรียนรู้ ผู้สอนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการจัดกิจกรรมหรือเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนให้แก่ผู้เรียน เช่น การใช้ WebQuest ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นฐาน